แชร์

บิ๊กบอส ธปท.ฟันธงไร้เงินดิจิตอล ศก.ไทยโงหัวฝืดเฟ้อคงที่

อัพเดทล่าสุด: 15 ธ.ค. 2023
291 ผู้เข้าชม

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะการเงินของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวอยู่ในกรอบเป้าหมาย คาดการณ์ปี 2566 ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.3% โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำและติดลบในช่วงที่เหลือของปีนี้จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ เช่น 1.มาตรการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซล 2.ราคาอาหารสดที่ลดลง และ 3.ผลของฐานสูงจากราคาผักที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2565 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และ 2568 จะปรับสูงขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.0% และ 1.9% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งจากราคาอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทรงตัวอยู่ที่ 1.2% และ 1.3% ตามลำดับ สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว ทั้งนี้ หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.2% และ 1.5% ตามลำดับ

การที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำดังกล่าว ไม่ได้สะท้อนถึงภาวะเงินฝืด เนื่องจากอุปสงค์ยังเติบโตได้ดี เห็นได้จากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3/2566 ที่ขยายตัวได้ 8% จำนวนการจ้างงานมีสูงถึง 40 ล้านคน ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเพียง 1% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ สะท้อนภาพเศรษฐกิจว่าไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด

ด้าน นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่องและคาดว่าปี 2566 จะขยายตัวที่ 2.4% โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวดีโดยเฉพาะในหมวดบริการ ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องฟื้นตัวช้า การฟื้นตัวจึงยังไม่ครอบคลุมในทุกภาคเศรษฐกิจ

สำหรับปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้นโดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.2% หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อัตราการขยายตัวในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% เทียบกับ 4.4% ที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน ขณะที่ปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 3.1% และในกรณีที่ไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.ภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567 จะอยู่ที่ 34.5 และปี 2568 ที่ 39 ล้านคนและ 2568 ตามลำดับ 2.การบริโภคภาคเอกชนที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้นและ 3.ภาคการส่งออกสินค้าในปี 2567 ธปท.ประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4.3%และปี 2568 ขยายตัวที่ 3.3% และภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องที่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์สินค้าโลก พร้อมกับการกลับมาของวัฏจักร อิเล็กทรอนิกส์โลก อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความเสี่ยงที่การส่งออกอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยที่ลดลง



ขณะที่ นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงิน ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.50% ต่อปีซึ่งอัตราดังกล่าวอยู่ในระดับที่ไม่ได้เพิ่มแรงสนับสนุนและไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจในระยะถัดไป และมองไปปี 2567 การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวก็เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ รวมถึงในกรณีที่ไม่ได้รวมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ด้วย และขณะนี้ภาวะการเงินตึงตัวขึ้นจริง หรือผ่อนคลายน้อยลง แต่อัตราการตึงตัวไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่ ธปท.คาดการณ์ โดยธนาคารพาณิชย์ได้ส่งผ่านไปสู่อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ปรับประมาณ 70% ของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับประมาณ 50% ของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย ธปท.ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาที่ 2% ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยมากหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ MRR ปรับขึ้นที่ 50% ของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น 1%

อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว แต่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง จึงเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า อีกทั้งเป็นการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy